ilikemassage.com

หัวเราะวันละนิดจิตแจ่มใส:)))))))

               นับตั้งแต่ประเทศของเราได้มีการเจริญพัฒนาก้าวหน้าเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทำให้เรามีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่วิถีชีวิตของเราก็ต้องมีความรีบเร่งอย่างมากหรือต้องทำงานแข่งกับเวลา เป็นผลให้ผู้คนในสังคมมีความเครียดมากขึ้น เราจึงมักจะไม่ค่อยได้พบผู้คนที่มีรอยยิ้มหรือหัวเราะ ผู้ที่มีความเครียดเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพทรุดโทรมได้ ส่วนผู้ที่มีพฤติกรรมสนุกสนาน อารมณ์แจ่มใสหรือมีอารมณ์ขันอยู่เสมอ ๆ จะทำให้มีโอกาสลดความเครียดลงไปได้บ้าง ด้วยเหตุนี้จึงได้มีความพยายามศึกษาผลดีของการมีอารมณ์แจ่มใสหรือการหัวเราะและพบว่าสามารถทำให้ร่างกายมีความสุขได้จริงและมีความต้านทานโรคได้เพิ่มขึ้นด้วย

         เมื่อไม่นานมานี้ศาสตราจารย์โซฟี สก๊อต จากสถาบันประสาทวิทยาการจดจำ แห่งประเทศอังกฤษ ได้ศึกษาผลของการหัวเราะโดยใช้ตัวอย่างที่เป็นอาสาสมัคร การทดลองใช้การเปิดเทปบันทึกเสียงให้ฟังแล้ววัดปฏิกิริยาในสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า  เสียงที่ให้ฟังมีทั้งเสียงในด้านบวก เช่น เสียงหัวเราะ เสียงที่แสดงถึงการได้รับชัยชนะ ส่วนเสียงในด้านลบ เช่น เสียงร้องไห้ เสียงกรีดร้อง เสียงอาเจียน ผลการศึกษาพบว่าเสียงทั้งหมดก่อให้เกิดปฏิกิริยาในสมองส่วนที่เรียกว่าพรีมอเตอร์คอร์ติคอล แต่จะมีการตอบสนองต่อเสียงในด้านบวกมากกว่าด้านลบ ทำให้สามารถนำมาใช้อธิบายได้ว่าเพราะเหตุใดเราจึงตอบสนองต่อเสียงหัวเราะหรือเสียงที่แสดงถึงการได้รับชัยชนะด้วยรอยยิ้มหรือหัวเราะออกมาโดยอัตโนมัติ พฤติกรรมเช่นนี้ช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ในสังคมของมนุษย์

         การหัวเราะเป็นพฤติกรรมตอบสนองในมนุษย์ เด็กและผู้ใหญ่จะหัวเราะไม่เท่ากัน โดยเด็กหัวเราะวันละประมาณ 400 ครั้งและผู้ใหญ่หัวเราะวันละประมาณ 14 ครั้ง การหัวเราะจะช่วยให้ชีวิตมีความสุขมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของร่างกาย ดังนี้


       

 1. การหัวเราะช่วยปกป้องหัวใจและลดความดันโลหิต 

         นายแพทย์วิโรจน์ เศรษฐิน แห่งโรงพยาบาลหัวเฉียวได้ให้ข้อมูลว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นปัญหาสุขภาพที่คุกคามชีวิตคนไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยคนกรุงเทพมหานครเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด 45 คนต่อประชากร 100,000 คน สาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการเกิดโรค ได้แก่ ความเครียด มีผลการวิจัยจากต่างประเทศหลายรายงานที่พบว่า ผู้ที่ไม่ค่อยหัวเราะหรือมีอารมณ์ขันเมื่อพบสถานการณ์ที่ทำให้เครียดจะเป็นโรคหัวใจง่ายกว่าคนที่หัวเราะหรือมีอารมณ์ขันอยู่เสมอ ๆ เนื่องจากการหัวเราะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงขึ้น (โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน) ช่วยลดความดันโลหิตให้ต่ำลง เพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย ป้องกันการเกิดโรคหัวใจ จึงนับว่าการหัวเราะหรือมีอารมณ์ขันมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก นอกจากนี้นักวิจัยจากศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ มลรัฐแมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา ศึกษาเกี่ยวกับการหัวเราะกับสุขภาพ พบว่าผู้ป่วยโรคหัวใจส่วนมากจะค่อนข้างเครียด ไม่ค่อยได้หัวเราะหรือมีอารมณ์ขันหรือยิ้มกับบุคคลอื่น ๆ เมื่อเทียบกับผู้ที่มีหัวใจเป็นปกติหรือไม่ได้เป็นโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคหัวใจจะมีโอกาสได้หัวเราะหรือมีอารมณ์ขันน้อยกว่าคนปกติประมาณร้อยละ 40 แสดงให้เห็นว่าการหัวเราะหรือมีอารมณ์ขันจะช่วยให้มีสุขภาพดีขึ้น

         2. การหัวเราะช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย

         ดร. เอวี พรี ไพจิต รองประธานคณะแพทย์ของโรงพยาบาลเวอร์คงรามประเทศอินเดีย ได้ให้ข้อมูลว่าผู้ที่มีความเครียดหรือวิตกกังวลจะทำให้สุขภาพทรุดโทรม อันเป็นสาเหตุทำให้ร่างกายอ่อนแอจึงเจ็บป่วยได้ง่าย แต่การหัวเราะหรืออารมณ์ขันจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายเพราะเป็นการลดความเครียด รวมทั้งช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันโรคดีขึ้น ประเทศอินเดียจึงได้นำการหัวเราะหรืออารมณ์ขันมาใช้ฝึกโยคะและการแพทย์ทางเลือกต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 เป็นต้นมา เช่น การรักษาทางจิตใจให้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ ถ้าฝึกให้ผู้ป่วยได้หัวเราะประมาณ 5 นาที จะช่วยให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าได้นานถึง 12 ชั่วโมง

         3. การหัวเราะช่วยให้ร่างกายต้านทานโรคติดเชื้อได้ดีขึ้น

         ดร.เซลคอน โคเฮน ศาสตราจารย์สาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ สหรัฐอเมริกาและคณะได้ศึกษาภาวะอารมณ์และจิตใจกับการเกิดโรคโดยใช้อาสาสมัครที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงจำนวน 334 คน มาตรวจสอบภาวะอารมณ์และจิตใจ จากนั้นจึงพ่นเชื้อไวรัสหวัดเข้าไปในจมูก เพื่อให้ผู้ป่วยเป็นไข้หวัด ต่อมาได้ศึกษาอาการและปฏิกิริยาต่อต้านโรคของแต่ละคนดูว่าคนไหนจะเจ็บป่วยหรือแสดงอาการอย่างไรออกมาบ้าง ผลการศึกษาพบว่าผู้ที่มีอารมณ์ซึมเศร้าหรือตื่นเต้นได้ง่าย โมโหฉุนเฉียวง่าย รวมทั้งผู้ที่ชอบรำพึงรำพันถึงความเจ็บป่วยหรือความเศร้าโศกของชีวิตตนเองจะเป็นไข้หวัดได้ง่าย ส่วนผู้ที่รู้สึกว่ามีความสุข มีความกระฉับกระเฉงกระปรี้กระเปร่า อารมณ์ขันจะเป็นไข้หวัดได้ค่อนข้างยาก แสดงให้เห็นว่าอารมณ์และจิตใจมีผลต่อสุขภาพ กล่าวคือ เมื่อร่างกายรู้สึกเป็นสุขก็จะทำให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพดี เป็นเหตุให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง อารมณ์และจิตใจของเราจึงสามารถทำให้ร่างกายอ่อนแอหรือแข็งแรงก็ได้ ดังนั้นผู้ที่ต้องการให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงก็จะต้องทำให้มีอารมณ์แจ่มใสหรืออารมณ์ขันอยู่เสมอ ๆ 

         4. การหัวเราะทำให้ชีวิตมีความสุข

         จากการศึกษาในอาสาสมัครพบว่าการหัวเราะอย่างมาก (ที่เรียกว่าหัวเราะแบบท้องคัดท้องแข็ง) จะช่วยให้ร่างกายมีความสุขขึ้นได้ เนื่องจากเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเอนเดอร์ฟิน (endorphin) ออกมา เอนโดฟินสร้างมาจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า สารนี้มีฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีนจึงช่วยระงับความเจ็บปวด เป็นสารที่ทำให้ร่างกายมีความคิดในทางที่ดีหรือคิดในทางสร้างสรรค์ ช่วยเพิ่มความมีชีวิตชีวาและความสุข เอนโดฟินจะหลั่งออกมาเมื่อมีการออกกำลังกายหรือเมื่อมีอารมณ์แจ่มใสหรือเมื่อร่างกายอยู่ในสภาวะที่มีความสุข จึงเรียกกันว่า “สารแห่งความสุข”

         ท่านผู้ฟังที่เคารพ จากการศึกษาดังกล่าวจะเห็นว่าการทำให้มีอารมณ์ขันหรืออารมณ์แจ่มใสจะช่วยให้สุขภาพของเรามีความสมบูรณ์แข็งแรงและมีความต้านทานโรคได้ดีขึ้น เราทุกคนจึงควรพยายามฝึกฝนให้ตนเองมีพฤติกรรมที่มองโลกในด้านดีมากขึ้น เพื่อทำให้ชีวิตของตนเองมีอารมณ์แจ่มใส รวมทั้งหาทางทำให้ตนเองมีอารมณ์ขันมากขึ้น เช่น การอ่านหนังสือการ์ตูนประเภทชวนหัวเราะ การชมโทรทัศน์รายการที่ชวนหัวเราะหรือการชมภาพยนตร์ที่มีแนวตลกขบขัน ฯลฯ และถ้าหากสามารถออกกำลังกายได้ทุกวันก็จะยิ่งดี เพราะจะช่วยลดความเครียดได้อย่างมาก จึงมีผลให้ร่างกายมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงมีความต้านทานโรคได้ดีและชีวิตมีความสุขมากขึ้นด้วยครับ

สุดท้ายนี้ขอให้ทุกท่านพบกับความสุขในเสียงหัวเราะและใช้ชีวิตให้มีความสุขนะครับ